Sunday, June 6, 2010

ไทยกับความร่วมมือพัฒนาประเทศเพื่อนบ้าน สู่ความสำเร็จแบบ win win

ประเทศเพื่อนบ้านถือเป็นประเทศที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีสภาพแวดล้อมและภูมิประเทศติดต่อกับอาณาเขตของประเทศไทย ดังนั้นรัฐบาลจึงเน้นให้ความสำคัญในการช่วยเหลือ รวมทั้งพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านมาโดยตลอด
ซึ่งการให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาต่อประเทศเพื่อนบ้าน ถือเป็นกลไกหนึ่งในการสร้างสรรค์ความเจริญร่วมกัน โดยรัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญและดำเนินการในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงปี 2534 จากนั้นเมื่อประเทศไทยได้เปลี่ยนสถานะจากผู้รับ มาเป็นผู้ให้ในระยะต้น ก็มีเพียงกระทรวงการต่างประเทศ และอีกไม่กี่หน่วยงานเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบเท่านั้น แต่ปัจจุบันได้มีการขยายบทบาทในด้านนี้มากขึ้น โดยมีส่วนราชการอื่นๆ อาทิ กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงคมนาคม และกระทรวงมหาดไทย เข้ามาร่วมดูแลรับผิดชอบ รวมทั้งยังมีการจัดตั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้น อาทิ สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (สพพ. NEDA) และสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) นอกจากนี้หน่วยงานจากภาคเอกชนในส่วนต่างๆ ก็มีความตื่นตัวและเข้าร่วมดำเนินการให้ความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านตามแนวทาง Corporate Social Responsibility (CSR) เช่นเดียวกัน ซึ่งถือเป็นการสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านที่หลากหลายมิติมากขึ้น
โดย นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศ มีสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ หรือ สพร. ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญในการพิจารณาความร่วมมือด้านวิชาการแก่ประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ยังมีสำนักงานภูมิภาคและกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่รับผิดชอบการส่งเสริมพัฒนาความร่วมมือในกรอบความสัมพันธ์ทวิภาคีและกรอบอนุภูมิภาคต่างๆ ตามลำดับ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดช่องว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากปัญหาข้ามแดนต่างๆ อาทิ ปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย โรคติดต่อ และอาชญากรรมข้ามชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของอนุภูมิภาคในการใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เปิดตัวขึ้นในทางระหว่างประเทศ ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจและสังคม ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม การปรับปรุงระเบียบรองรับในเรื่องต่างๆ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์และอำนวยความสะดวกให้กับการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวระหว่างประเทศ และร่วมสร้างจุดดึงดูดให้นักธุรกิจ นักลงทุน และนักท่องเที่ยวเข้าในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้นการให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาประเทศเพื่อนบ้าน จึงไม่เพียงแค่เป็นประโยชน์โดยตรงต่อประเทศที่เป็นผู้รับ แต่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างผู้รับกับผู้ให้ ในลักษณะแบบ Win Win ที่สมควรส่งเสริมเพื่อสร้างสรรค์โอกาสที่ดีขึ้นร่วมกัน

No comments:

Post a Comment